Wednesday, June 28, 2017

พระควรจับเงินหรือไม่?



พระควรจับเงินหรือไม่?


        ยังเป็นกระแสที่พูดกันอย่างต่อเนื่องเรื่องควรถวายปัจจัยพระภิกษุหรือไม่?

        ก่อนที่ผู้เขียนจะฟันธงว่าควรหรือไม่ควร ก็คงต้องขอให้ผู้อ่านย้อนกลับไปดูความเป็นอยู่หรือสภาพสังคมในสมัยก่อน


        เดิมนั้นสังคมไทย เป็นสังคมเกษตรกรรม ผู้คนมีวิถีชีวิตแบบเรียบง่าย ไม่ซับซ้อน สังคมก็เป็นสังคมใหญ่ ในครอบครัวมีตั้งแต่ปู่ ย่า ตา ยาย พ่อ แม่ ลูกหรือหลาน ในครอบครัวก็มีการสอนเรื่องคุณธรรมศีลธรรมผ่านผู้ใหญ่ไปถึงลูกหลาน นอกจากนั้นเด็ก ๆ ก็จะถูกฝึกให้มีความผูกพันกับพระกับวัด โดยการบวชเรียนบ้าง ไปคอยรับใช้พระบ้าง


        สมัยที่ผู้เขียนยังเป็นเด็ก อยู่ในหมู่บ้านเล็ก ๆ ที่เป็นบ้านของคุณย่าในต่างจังหวัด ความเจริญทางวัตถุยังเข้าไปไม่ถึง แต่กลับเป็นหมู่บ้านที่มีความสุขมาก เพราะไม่มีเรื่องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องเข้ามาจัดการ หากมีเรื่องอะไรก็พากันไปที่วัด ให้ท่านเจ้าอาวาสเป็นผู้ตัดสิน ใครผิดเจ้าอาวาสเฆี่ยนเอง ภาพของพระภิกษุ จึงเป็นผู้มีความศักดิ์สิทธิ์ที่ใคร ๆ ก็เคารพ เวลาท่านเอ่ยปากอะไร จึงเหมือนกับมีวาจาสิทธิ์ แค่บอกญาติโยมว่า ต้องมาฟังธรรม มารักษาศีล ในวันพระ ผู้คนทั้งหมู่บ้านก็แห่กันมาพร้อมหน้าพร้อมตา เรื่องของปัจจัย 4 จึงไม่ขาดแคลน


        แม้แต่การเดินทางสมัยนั้นก็ไม่มีความจำเป็นต้องใช้เงินทอง เพราะไปไหนก็ไปด้วยเกวียน ยิ่งสมัยพุทธกาล พระภิกษุจะไปไหน หากไม่เดินก็อาศัยการไปกับพ่อค้า กองเกวียนต่าง ๆ

        ดังนั้นจะเห็นได้ว่า สภาพสังคมยุคนั้น พระภิกษุไม่มีความจำเป็นที่ต้องจับต้องเงินทองเลย


        แต่เมื่อมองสังคมในปัจจุบันที่กลายเป็นสังคมอุตสาหกรรม ผู้คนถูกกันให้ห่างออกไปจากวัดโดยหน้าที่การงาน รวมทั้งวิถีชีวิตที่ต้องดิ้นรน หาเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง ทำให้นอกจากจะไม่ค่อยมีเวลาที่จะฟังธรรม ปฏิบัติธรรมแล้ว โอกาสในการที่จะมาถวายความเอาใจใส่พระภิกษุเหมือนเมื่อก่อนจึงไม่มีอีกต่อไป จึงทำให้พระภิกษุต้องขวนขวายในการหาปัจจัย 4 เพื่อรักษาวัด รักษาพระพุทธศาสนาด้วยตนเอง จึงเป็นการยากในการที่จะหลีกเลี่ยงการจับเงินจับทอง



        โดยสรุป หากเราไม่ต้องการเห็นพระจับเงิน ชาวพุทธก็ต้องสร้างสังคมให้เอื้อกับท่าน ก็ต้องถามว่า เราพร้อมหรือไม่ที่จะปวารณาต่อท่าน ดังตัวอย่างต่อไปนี้

- ชาวพุทธทุกคนต้องพร้อมใจกันตักบาตรกันตอนเช้า

- ชาวพุทธทุกคนต้องรักษาศีล 5 เป็นปกติ และรักษาศีล 8 ในวันพระ

- หากพระภิกษุมีกิจธุระจะเดินทางไปไหนทั้งในและต่างประเทศ ยานพาหนะทุกประเภทจะต้องไม่เก็บค่าโดยสาร(คงไม่มีแทกซี่คันไหนที่รับพระแล้วต้องการเพียงแค่คำว่า "อนุโมทนาบุญนะโยม")

- หากพระภิกษุเดินทางไปไหนก็ตาม แล้วได้เวลาฉันเพล ร้านอาหารทุกร้านจะต้องไม่เก็บค่าอาหาร

- หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุง วัดวาอาราม ร้านค้าวัสดุอุปกรณ์ ต้องไม่คิดเงิน

- หน่วยงานต่าง ๆ เช่น ไฟฟ้า ประปา ต้องไม่เก็บเงินค่าน้ำ ค่าไฟ
 
- กรมการศาสนาจะต้องมีการจัดสรรงบประมาณ โดยไม่ต้องมีเงินทอน ให้พอกับความต้องการ จะได้ไม่ต้องมาโดนตรวจสอบเรื่องการเรี่ยไร

ฯลฯ

- ที่สำคัญหากพระภิกษุขอว่า เจ้าหน้าที่ผู้ที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา ขอให้มีศีล 5 บริสุทธิ์ ไม่มีประวัติด่างพร้อย มาเพื่อทำหน้าที่สนับสนุน ทำนุบำรุง พระพุทธศาสนาจริง ๆ ไม่ใช่ประเภทรับงานมาทำลายพระพุทธศาสนา อย่างนี้จะได้หรือไม่?

       ผู้เขียนคิดว่า หากชาวพุทธทั้งมวลตอบว่า “ได้” ก็คงจะไม่เป็นเรื่องยากที่จะให้พระภิกษุท่านไม่จับเงินจับทอง จริงไหมครับ?






อนาคาริก
06/28/17

5 comments:

  1. แก้ง่ายนิดเดียว..โยมก็ถวายบัตรเครดิตให้พระ ครบรอบก็ช่วยไปจ่ายให้ด้วย..จบข่าว

    ReplyDelete
    Replies
    1. เดี๋ยวพวกก็บอกว่า บัตรเครดิตก็เป็นของอนุโลมว่าเป็นเงินอีกแหละ

      Delete
  2. ต้องอนุโลมตามยุคสมัย ตลอดถึงความพอเหมาะพอดี นักบวชก็คือมนุษย์ที่ควรมีสิทธิในสิ่งที่จำเป็นควรมี

    ReplyDelete
  3. สาธุ เจ้าค่ะ ทำไมฆราวาสชอบเอาความคิดทางโลกมาตัดสินความคิดทางธรรม โลกเราเปลี่ยนไปจากเมื่อก่อนมาก ทำไมฆราวาสมักจะมองให้ผู้อื่น แม้กระทั่งพระ ต้องเป็นไปในแบบที่ตัวเองต้องการด้วย หากตัวเองอยากได้พระที่ดีตามที่ตัวเองต้องการ ทำไม จะมาตรวจสอบ มาจับผิด ทำไม ไม่คิดแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ส่งลูกหลานตัวเองมาบวช ซิ หรือไม่ก็ควรมาบวชเองเลย จะได้เป็นแบบอย่างที่ดี ที่ตัวเองต้องการ... ใช่หรือไม่

    ReplyDelete