Tuesday, August 8, 2017

ผู้นำ...กับการพัฒนาประเทศ




ผู้นำ...กับการพัฒนาประเทศ



        เมื่อได้เห็นข้อความจากสื่อข้างต้น ทำให้ผู้เขียนนึกถึงอยู่ ๒ เรื่อง



        เรื่องที่ ๑ อาจารย์ของผู้เขียน เคยถามผู้เขียนว่า

        “ยูรู้ไหม การเป็นผู้นำ ต้องมีความชำนาญในวิชาอะไร”

        ผู้เขียนรีบตอบทันทีว่า “ต้องวิชาเกี่ยวกับการปกครอง กฎหมาย เศรษฐศาสตร์ ครับ”

        อาจารย์ท่านส่ายหน้า แล้วเฉลยว่า “ที่ว่ามาไม่ใช่หรอก ผู้นำต้องแตกฉานในวิชาอักษรศาสตร์”

ในตอนนั้น ผู้เขียนก็มัวแต่คิด พิจารณาแล้วก็สงสัยว่า ทำไมต้องเป็นอักษรศาสตร์



        เรื่องที่ ๒ ผู้เขียนนึกถึงนิทานจีนเรื่อง “ต่างยอมรับผิด” ซึ่งเป็นตัวอย่างของครอบครัวหรือสังคมที่จะทำให้เกิดความสุขได้ เรื่องย่อ ๆ ก็มีว่า มีครอบครัวชาวจีนครอบครัวหนึ่ง ประกอบไปด้วย พ่อ แม่ ลูกชาย ลูกสะใภ้ และสุนัขอีกหนึ่งตัว 
        วันหนึ่งแม่ป่วย เลยนอนพัก ลูกสะใภ้ก็ต้มน้ำแกงอย่างดี นำมาให้ แต่พอเห็นแม่สามีหลับอยู่ ก็เลยวางไว้ข้างเตียง มาดูอีกทีปรากฎว่า สุนัชช่วยจัดการหมดชามเรียบร้อย ก็เลยเสียใจ ร้องไห้ เมื่อแม่ตื่นขึ้นมา ก็สงสัยว่าร้องไห้ทำไม ลูกสะใภ้ก็ตอบว่า เป็นความผิดของตนเองที่ไม่ได้เก็บให้เรียบร้อย ทำให้สุนัขมากินน้ำแกงหมด 
        พอแม่ทราบเรื่องแทนที่จะโทษลูกสะใภ้เหมือนในนิยายน้ำเน่าทั้งหลาย กลับบอกว่า เป็นความผิดของตนเองที่มัวแต่หลับ ไม่งั้นก็ได้กินน้ำแกงอร่อย ๆ แล้ว 
        ในขณะที่กำลังคุยกันอยู่ พ่อก็กลับมา พอทราบเรื่องก็บอกว่า เป็นความผิดของตน ที่ไม่ได้ปิดประตูให้เรียบร้อย ทำให้สุนัขเข้ามาในบ้านได้ 
        ฝ่ายลูกชายมาถึงล่าสุด ก็กล่าวว่า เป็นความผิดของเขาเองต่างหากเพราะปกติแล้ว เวลาไปนอกบ้านจะเอาสุนัขตัวนี้ไปด้วย


        ที่ผู้เขียนนึกถึงเรื่องทั้งสองนี้ก็เพราะได้แรงบันดาลใจจากคำพูดของท่านผู้นำประเทศ 

        ในประเด็นแรก การเป็นผู้นำต้องเชี่ยวชาญในวิชาอักษรศาสตร์ ก็เพราะคนที่จะเป็นผู้นำที่ดีได้ จะต้องสามารถสื่อสารกับประชาชนได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นการพูด การเขียน จะต้องเป็นนักสร้างกำลังใจ พูดแล้วทำให้คนเกิดความคิดสร้างสรรค์ เกิดความกระตือรือล้นที่จะให้ความร่วมแรงร่วมใจในการพัฒนาประเทศชาติ มิฉะนั้น พอออกทีวีรายการไหนก็จะถึงเวลาที่ชาวบ้านพร้อมใจกันประหยัดไฟ โดยการปิดทีวีโดยไม่ต้องนัดหมายกัน

        ส่วนประเด็นที่สอง การเป็นผู้นำต้องพร้อมที่จะรับผิดชอบ อย่าปัดให้เป็นเรื่องของผู้อื่น หากจะบอกว่า คนอื่นไม่ให้ความร่วมมือ นั่นยิ่งต้องกลับมาทบทวนว่า ทำไมเขาจึงไม่ให้ความร่วมมือ เรายังมีข้อบกพร่องอะไร ตรงไหนในการทำงาน หากมัวแต่ไปโทษคนอื่น รับรองว่าจะไม่มีทางที่จะคิดแก้ไขตนเอง ผลที่ตามมาก็คือ อารมณ์เสียทั้งผู้พูดและผู้ฟัง

        ผู้เขียนจึงได้บทเรียนสอนตนเองว่า หากคิดจะเป็นผู้นำในภายภาคหน้า จะต้องฝึกเรื่องการสื่อสารให้ดี รวมทั้งหัดโทษตนเองเพื่อนำมาสู่การแก้ไขตนเองเสียบ้าง มิฉะนั้น นอกจากตัวเองจะไม่มีการพัฒนาแล้ว ประเทศชาติบ้านเมืองก็จะพลอยถอยหลังเข้าคลองไปด้วย

        จริงไหมครับ ท่านผู้นำ






อนาคาริก
08/08/17