Tuesday, August 8, 2017

ผู้นำ...กับการพัฒนาประเทศ




ผู้นำ...กับการพัฒนาประเทศ



        เมื่อได้เห็นข้อความจากสื่อข้างต้น ทำให้ผู้เขียนนึกถึงอยู่ ๒ เรื่อง



        เรื่องที่ ๑ อาจารย์ของผู้เขียน เคยถามผู้เขียนว่า

        “ยูรู้ไหม การเป็นผู้นำ ต้องมีความชำนาญในวิชาอะไร”

        ผู้เขียนรีบตอบทันทีว่า “ต้องวิชาเกี่ยวกับการปกครอง กฎหมาย เศรษฐศาสตร์ ครับ”

        อาจารย์ท่านส่ายหน้า แล้วเฉลยว่า “ที่ว่ามาไม่ใช่หรอก ผู้นำต้องแตกฉานในวิชาอักษรศาสตร์”

ในตอนนั้น ผู้เขียนก็มัวแต่คิด พิจารณาแล้วก็สงสัยว่า ทำไมต้องเป็นอักษรศาสตร์



        เรื่องที่ ๒ ผู้เขียนนึกถึงนิทานจีนเรื่อง “ต่างยอมรับผิด” ซึ่งเป็นตัวอย่างของครอบครัวหรือสังคมที่จะทำให้เกิดความสุขได้ เรื่องย่อ ๆ ก็มีว่า มีครอบครัวชาวจีนครอบครัวหนึ่ง ประกอบไปด้วย พ่อ แม่ ลูกชาย ลูกสะใภ้ และสุนัขอีกหนึ่งตัว 
        วันหนึ่งแม่ป่วย เลยนอนพัก ลูกสะใภ้ก็ต้มน้ำแกงอย่างดี นำมาให้ แต่พอเห็นแม่สามีหลับอยู่ ก็เลยวางไว้ข้างเตียง มาดูอีกทีปรากฎว่า สุนัชช่วยจัดการหมดชามเรียบร้อย ก็เลยเสียใจ ร้องไห้ เมื่อแม่ตื่นขึ้นมา ก็สงสัยว่าร้องไห้ทำไม ลูกสะใภ้ก็ตอบว่า เป็นความผิดของตนเองที่ไม่ได้เก็บให้เรียบร้อย ทำให้สุนัขมากินน้ำแกงหมด 
        พอแม่ทราบเรื่องแทนที่จะโทษลูกสะใภ้เหมือนในนิยายน้ำเน่าทั้งหลาย กลับบอกว่า เป็นความผิดของตนเองที่มัวแต่หลับ ไม่งั้นก็ได้กินน้ำแกงอร่อย ๆ แล้ว 
        ในขณะที่กำลังคุยกันอยู่ พ่อก็กลับมา พอทราบเรื่องก็บอกว่า เป็นความผิดของตน ที่ไม่ได้ปิดประตูให้เรียบร้อย ทำให้สุนัขเข้ามาในบ้านได้ 
        ฝ่ายลูกชายมาถึงล่าสุด ก็กล่าวว่า เป็นความผิดของเขาเองต่างหากเพราะปกติแล้ว เวลาไปนอกบ้านจะเอาสุนัขตัวนี้ไปด้วย


        ที่ผู้เขียนนึกถึงเรื่องทั้งสองนี้ก็เพราะได้แรงบันดาลใจจากคำพูดของท่านผู้นำประเทศ 

        ในประเด็นแรก การเป็นผู้นำต้องเชี่ยวชาญในวิชาอักษรศาสตร์ ก็เพราะคนที่จะเป็นผู้นำที่ดีได้ จะต้องสามารถสื่อสารกับประชาชนได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นการพูด การเขียน จะต้องเป็นนักสร้างกำลังใจ พูดแล้วทำให้คนเกิดความคิดสร้างสรรค์ เกิดความกระตือรือล้นที่จะให้ความร่วมแรงร่วมใจในการพัฒนาประเทศชาติ มิฉะนั้น พอออกทีวีรายการไหนก็จะถึงเวลาที่ชาวบ้านพร้อมใจกันประหยัดไฟ โดยการปิดทีวีโดยไม่ต้องนัดหมายกัน

        ส่วนประเด็นที่สอง การเป็นผู้นำต้องพร้อมที่จะรับผิดชอบ อย่าปัดให้เป็นเรื่องของผู้อื่น หากจะบอกว่า คนอื่นไม่ให้ความร่วมมือ นั่นยิ่งต้องกลับมาทบทวนว่า ทำไมเขาจึงไม่ให้ความร่วมมือ เรายังมีข้อบกพร่องอะไร ตรงไหนในการทำงาน หากมัวแต่ไปโทษคนอื่น รับรองว่าจะไม่มีทางที่จะคิดแก้ไขตนเอง ผลที่ตามมาก็คือ อารมณ์เสียทั้งผู้พูดและผู้ฟัง

        ผู้เขียนจึงได้บทเรียนสอนตนเองว่า หากคิดจะเป็นผู้นำในภายภาคหน้า จะต้องฝึกเรื่องการสื่อสารให้ดี รวมทั้งหัดโทษตนเองเพื่อนำมาสู่การแก้ไขตนเองเสียบ้าง มิฉะนั้น นอกจากตัวเองจะไม่มีการพัฒนาแล้ว ประเทศชาติบ้านเมืองก็จะพลอยถอยหลังเข้าคลองไปด้วย

        จริงไหมครับ ท่านผู้นำ






อนาคาริก
08/08/17

Saturday, July 29, 2017

อย่าใช้ตรรกะผิด ๆ



อย่าใช้ตรรกะผิด ๆ


        หากมองสถานการณ์รอบด้านผ่านสื่อออนไลน์หรือหนังสือพิมพ์ในวันนี้ จะพบข่าวหรือบทความไปในทำนองเดียวกันคือ เรื่องของความเดือดร้อนจากภัยธรรมชาติโดยเฉพาะน้ำท่วม หรือจากความเอารัดเอาเปรียบในสังคม



        สิ่งที่น่าพิจารณาคือ เราจะใช้ตรรกะอะไรในการแก้ปัญหาต่าง ๆ เหล่านั้น เช่น หากน้ำท่วมในวันนี้ เราจะโทษรัฐบาลก่อนหรืออย่างไร หากมีปัญหาจากคนในหน่วยงานไหน เราจะต้องทำอย่างไรกับหน่วยงานนั้น ๆ



        ผู้เขียนกำลังจะสื่อให้ผู้อ่านได้เห็นว่า หากใช้ตรรกะที่สังคมพยายามจะทำกับพระพุทธศาสนาในวันนี้ ก็คงจะต้องใช้ตรรกะนั้นกับหน่วยงานอื่น ๆ ด้วย ยกตัวอย่างเช่น หากมีข่าวเรื่องทหารหรือตำรวจทำผิด ไปเรียกส่วยบ้างหรือไปรับคุมบาร์ คุมบ่อน ก็ต้องถือว่าเป็นความบกพร่องของหน่วยงานนั้น ๆ ก็ต้องยุบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือยุบหน่วยงานที่ดูแลทหาร เหมือนกับที่สังคมกำลังมองว่า หากมีพระทำผิดก็ต้องยุบมหาเถรสมาคม



        เราจะรู้สึกอย่างไร หากมีคนไทยสักคนไปทำผิดที่ต่างประเทศ เช่น ไปขโมยเพชรเขามา แล้วกลายเป็นว่า ถูกคนในประเทศนั้นตราหน้าว่า คนไทยเป็นคนขี้ขโมย เราจะรู้สึกว่ามันยุติธรรมหรือไม่ที่คนเพียงไม่กี่คนทำ แล้วกลายเป็นตราบาปของคนทั้งประเทศ


        ในทำนองเดียวกัน หากมีพระสักรูปทำผิด ทำไมเราไม่คิดว่าเป็นเรื่องเฉพาะตัวที่จะต้องมีการจัดการเป็นเรื่อง ๆ ไป แต่กลับจะมาเหมารวมว่า เป็นเรื่องของมหาเถรสมาคมต้องยุบมหาเถรสมาคม(ทั้งที่ในความเป็นจริงก็มีการดูแลเป็นลำดับชั้นอยู่แล้ว)
 
       และถ้าจะว่าไปหากชาวพุทธจะช่วยกันดูแล เป็นหูเป็นตา แยกแยะได้ชัดเจน เราก็คงจะช่วยกันจัดการให้พระพุทธศาสนาสะอาดผุดผ่องได้ จะได้ไม่มีพระที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการเป็นกบฏ ไปตบทรัพย์ชาวบ้านหรือรุกที่ป่า แล้วมาร้องแรกแหกกระเชอว่าตนเองทำถูก พระทั้งแผ่นดินทำผิด แบบทุกวันนี้


        ก็คงต้องมาทบทวนกันนะครับ ว่าเราจะใช้ตรรกะอะไรในการคิดแก้ปัญหาประเทศชาติของเรา




อนาคาริก
07/29/17

Wednesday, June 28, 2017

พระควรจับเงินหรือไม่?



พระควรจับเงินหรือไม่?


        ยังเป็นกระแสที่พูดกันอย่างต่อเนื่องเรื่องควรถวายปัจจัยพระภิกษุหรือไม่?

        ก่อนที่ผู้เขียนจะฟันธงว่าควรหรือไม่ควร ก็คงต้องขอให้ผู้อ่านย้อนกลับไปดูความเป็นอยู่หรือสภาพสังคมในสมัยก่อน


        เดิมนั้นสังคมไทย เป็นสังคมเกษตรกรรม ผู้คนมีวิถีชีวิตแบบเรียบง่าย ไม่ซับซ้อน สังคมก็เป็นสังคมใหญ่ ในครอบครัวมีตั้งแต่ปู่ ย่า ตา ยาย พ่อ แม่ ลูกหรือหลาน ในครอบครัวก็มีการสอนเรื่องคุณธรรมศีลธรรมผ่านผู้ใหญ่ไปถึงลูกหลาน นอกจากนั้นเด็ก ๆ ก็จะถูกฝึกให้มีความผูกพันกับพระกับวัด โดยการบวชเรียนบ้าง ไปคอยรับใช้พระบ้าง


        สมัยที่ผู้เขียนยังเป็นเด็ก อยู่ในหมู่บ้านเล็ก ๆ ที่เป็นบ้านของคุณย่าในต่างจังหวัด ความเจริญทางวัตถุยังเข้าไปไม่ถึง แต่กลับเป็นหมู่บ้านที่มีความสุขมาก เพราะไม่มีเรื่องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องเข้ามาจัดการ หากมีเรื่องอะไรก็พากันไปที่วัด ให้ท่านเจ้าอาวาสเป็นผู้ตัดสิน ใครผิดเจ้าอาวาสเฆี่ยนเอง ภาพของพระภิกษุ จึงเป็นผู้มีความศักดิ์สิทธิ์ที่ใคร ๆ ก็เคารพ เวลาท่านเอ่ยปากอะไร จึงเหมือนกับมีวาจาสิทธิ์ แค่บอกญาติโยมว่า ต้องมาฟังธรรม มารักษาศีล ในวันพระ ผู้คนทั้งหมู่บ้านก็แห่กันมาพร้อมหน้าพร้อมตา เรื่องของปัจจัย 4 จึงไม่ขาดแคลน


        แม้แต่การเดินทางสมัยนั้นก็ไม่มีความจำเป็นต้องใช้เงินทอง เพราะไปไหนก็ไปด้วยเกวียน ยิ่งสมัยพุทธกาล พระภิกษุจะไปไหน หากไม่เดินก็อาศัยการไปกับพ่อค้า กองเกวียนต่าง ๆ

        ดังนั้นจะเห็นได้ว่า สภาพสังคมยุคนั้น พระภิกษุไม่มีความจำเป็นที่ต้องจับต้องเงินทองเลย


        แต่เมื่อมองสังคมในปัจจุบันที่กลายเป็นสังคมอุตสาหกรรม ผู้คนถูกกันให้ห่างออกไปจากวัดโดยหน้าที่การงาน รวมทั้งวิถีชีวิตที่ต้องดิ้นรน หาเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง ทำให้นอกจากจะไม่ค่อยมีเวลาที่จะฟังธรรม ปฏิบัติธรรมแล้ว โอกาสในการที่จะมาถวายความเอาใจใส่พระภิกษุเหมือนเมื่อก่อนจึงไม่มีอีกต่อไป จึงทำให้พระภิกษุต้องขวนขวายในการหาปัจจัย 4 เพื่อรักษาวัด รักษาพระพุทธศาสนาด้วยตนเอง จึงเป็นการยากในการที่จะหลีกเลี่ยงการจับเงินจับทอง



        โดยสรุป หากเราไม่ต้องการเห็นพระจับเงิน ชาวพุทธก็ต้องสร้างสังคมให้เอื้อกับท่าน ก็ต้องถามว่า เราพร้อมหรือไม่ที่จะปวารณาต่อท่าน ดังตัวอย่างต่อไปนี้

- ชาวพุทธทุกคนต้องพร้อมใจกันตักบาตรกันตอนเช้า

- ชาวพุทธทุกคนต้องรักษาศีล 5 เป็นปกติ และรักษาศีล 8 ในวันพระ

- หากพระภิกษุมีกิจธุระจะเดินทางไปไหนทั้งในและต่างประเทศ ยานพาหนะทุกประเภทจะต้องไม่เก็บค่าโดยสาร(คงไม่มีแทกซี่คันไหนที่รับพระแล้วต้องการเพียงแค่คำว่า "อนุโมทนาบุญนะโยม")

- หากพระภิกษุเดินทางไปไหนก็ตาม แล้วได้เวลาฉันเพล ร้านอาหารทุกร้านจะต้องไม่เก็บค่าอาหาร

- หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุง วัดวาอาราม ร้านค้าวัสดุอุปกรณ์ ต้องไม่คิดเงิน

- หน่วยงานต่าง ๆ เช่น ไฟฟ้า ประปา ต้องไม่เก็บเงินค่าน้ำ ค่าไฟ
 
- กรมการศาสนาจะต้องมีการจัดสรรงบประมาณ โดยไม่ต้องมีเงินทอน ให้พอกับความต้องการ จะได้ไม่ต้องมาโดนตรวจสอบเรื่องการเรี่ยไร

ฯลฯ

- ที่สำคัญหากพระภิกษุขอว่า เจ้าหน้าที่ผู้ที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา ขอให้มีศีล 5 บริสุทธิ์ ไม่มีประวัติด่างพร้อย มาเพื่อทำหน้าที่สนับสนุน ทำนุบำรุง พระพุทธศาสนาจริง ๆ ไม่ใช่ประเภทรับงานมาทำลายพระพุทธศาสนา อย่างนี้จะได้หรือไม่?

       ผู้เขียนคิดว่า หากชาวพุทธทั้งมวลตอบว่า “ได้” ก็คงจะไม่เป็นเรื่องยากที่จะให้พระภิกษุท่านไม่จับเงินจับทอง จริงไหมครับ?






อนาคาริก
06/28/17

Saturday, June 24, 2017

เพราะพระหลอกง่ายใช่ไหมโยม?



เพราะพระหลอกง่ายใช่ไหมโยม?

        ในช่วงนี้มักจะเห็นข่าวเกี่ยวกับพระในเชิงลบออกมาบ่อย ๆ และหากสังเกตให้ดี จะเป็นช่วงใกล้เข้าพรรษาของทุกปี ก็ไม่อยากจะคิดมากว่ามีอะไรแอบแฝงหรือไม่(แต่ก็อดคิดไม่ได้แหละ)

        ไม่กี่วันมานี้ก็มีข่าวที่ออกตามสื่อต่าง ๆ เป็นไปในทำนองว่า ต้องมีการเข้ามาจัดการกับทรัพย์สินของวัด มีการขานรับกันทั้งหน่วยงานของรัฐและผู้หวังดี(หรือปล่าว)



        ผู้เขียนเคยสนทนากับพระผู้ใหญ่รูปหนึ่ง ท่านบอกว่า “พระคือ ผู้ที่หลอกง่ายที่สุด” เมื่อได้ยินในตอนนั้นผู้เขียนก็ได้แต่รับฟัง เพราะนึกว่าท่านพูดขำ ๆ จนกระทั่งเวลาผ่านไปเป็น ๑๐ ปี มาเข้าใจแจ่มแจ้งถึงบางอ้อ เอาวันนี้

        โถ ก็พระผู้เฒ่า หลวงปู่ หลวงตาทั้งหลาย ตามต่างจังหวัด ส่วนมากท่านก็บวชมาตั้งแต่เป็นเณร ด้วยคุณธรรมความดี ทำให้เป็นที่ยอมรับจนได้เป็นเจ้าอาวาส แล้วเป้าหมายของการบวชของท่านก็เพื่อสืบอายุพระพุทธศาสนา ไม่ได้รู้เท่าทันเล่ห์เหลี่ยมกิเลสมนุษย์ เมื่อมีเจ้าหน้าที่มาบอกว่า “หลวงปู่ หลวงตา ผมจะช่วยหาเงินมาปรับปรุงวัด เอาว่า ผมจะหามาให้สัก ๑๐ ล้าน แต่มันมีค่าดำเนินการราว ๘ ล้าน หลวงปู่ หลวงตา จะว่าไง” แหม นั่งอยู่เฉย ๆ มีคนมาเสนอถึงที่ แล้วได้ตั้ง ๒ ล้าน ท่านก็ต้องเอาสิ แล้วผลเป็นไง กลายเป็นว่า พระผิดซะนี่ แถมหาเหตุจะเข้ามาจัดการทรัพย์สินวัดซะด้วย แทนที่จะไปหาเหตุว่า ต้นตอแห่งความผิดอยู่ที่ไหน แล้วไปยกเครื่องปรับปรุงที่หน่วยงานที่ทุจริตนั้น ๆ 
         อย่างว่าแหละ “พระคือผู้ที่ถูกหลอกง่ายที่สุด”



        ความจริงเมื่อ ๑๐ ปีที่แล้ว พระก็เคยถูกหลอกให้เสียท่ามาจนถึงทุกวันนี้ จะอะไรหล่ะ หากไม่ใช่ ถูกใครก็ไม่รู้ หลอกให้ดีใจว่า “เจ้าอาวาสเป็นเจ้าพนักงาน” ฟังดูก็โก้ดี แต่ที่ไหนได้ ตำแหน่งเจ้าพนักงานดังกล่าว เอาไว้สำหรับติดคุกโดยเฉพาะ เพราะหากเจ้าอาวาสทำอะไรผิดแทนที่จะเป็นเรื่องธรรมดา ๆ กลายเป็นมีความผิดตาม ม. ๑๕๗ คือ เจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งพร้อมจะถูกจับสึกได้ตลอดเวลา

        นี่ดีนะ ที่เจ้าอาวาสวัดใหญ่วัดหนึ่ง รู้เท่าทันไม่ยอมรับการยัดเยียดข้อหา เพียงแค่การรับประเคนจากญาติโยม จะให้ผิดทั้งฟอกเงิน รับของโจร มิฉะนั้น ป่านนี้พระทั้งแผ่นดิน คงได้โดนข้อหาดังกล่าวกันอย่างถ้วนทั่ว

        แหม ยังไม่ทันตาย ก็หลอกพระซะแล้วนะโยม






อนาคาริก
06/24/17



Tuesday, June 20, 2017

ต้องทำให้ถูกหน้าที่



ต้องทำให้ถูกหน้าที่


        สิ่งสำคัญที่จะทำให้คนเรามีคุณค่าก็คือ ความรับผิดชอบในหน้าที่ของตนเอง เช่น เป็นครู ก็มีหน้าที่ในการอบรมสั่้งสอนศิษย์ เป็นตำรวจก็มีหน้าที่พิทักษ์ความสงบให้ราษฎร เป็นทหารก็มีหน้าที่เป็นรั้วของชาติ คอยป้องกันไม่ให้ใครมารุกราน เป็นต้น

        หากเมื่อไรก็ตามที่ทำผิดหน้าที่ย่อมจะทำให้เกิดความเดือดร้อนขึ้นในสังคมอย่างแน่นอน ดังที่เราเห็นเป็นข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์หรือสื่อในโซเชียลต่าง ๆ



        การที่ใครจะทำอะไรให้ถูกหน้าที่ได้ หัวใจก็คือความเข้าใจภาระงานในหน้าที่ของตนอย่างถ่องแท้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของศาสนา ซึ่งเป็นเรื่องของความศรัทธา เป็นเรื่องของความละเอียดอ่อน

        ในอดีตที่ผ่านมาผู้ที่ทำหน้าที่ในจุดนี้ จะมีความเข้าใจในเนื้องานเป็นอย่างดี เนื่องจากส่วนใหญ่จะเป็นอดีตพระหรือเคยบวชเรียนมาก่อน ทำให้มีความเคารพในพระรัตนตรัย จึงได้ทำตัวเสมือนลูกศิษย์พระหรือเด็กวัด เมื่อมีปัญหาอะไรก็จะวิ่งเข้าหาพระผู้ใหญ่ คอยสอบถาม ขอคำแนะนำ เพราะตระหนักดีว่า กว่าท่านเหล่านั้นจะก้าวมาถึงการเป็นกรรมการมหาเถรสมาคมได้ ต้องผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านเรื่องราวมามากมาย


       ก็เป็นเรื่องที่น่าเห็นใจสำหรับผ.อ.สำนักพุทธคนปัจจุบัน ที่ท่านก้าวข้ามห้วยมาจากหน่วยงานดีเอสไอ ซึ่งว่าไปแล้วก็ไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับงานพระพุทธศาสนา ส่วนว่าสาเหตุที่ย้ายมาเพราะอะไรก็คงจะรู้ ๆ กันอยู่

       แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุใดก็ตาม เมื่อต้องมาทำหน้าที่ ก็ต้องทำให้ถูกหน้าที่ คือ เข้ามาช่วยเหลือ ให้คำแนะนำในการทำงาน หากสงสัยอะไรก็ควรจะได้สอบถามพระผู้ใหญ่ อย่าเพิ่งรีบด่วนให้ข่าวหรือออกสื่อไปก่อน เพราะอาจทำให้เกิดความเสียหายต่อทั้งตนเองและพระพุทธศาสนาได้

       เพราะสมมุติว่ามีเจตนาดีแต่ผิดวิธีก็อาจจะทำให้เกิดผลเชิงลบได้นะครับ
ท่าน




อนาคาริก
06/20/17

Monday, June 19, 2017

หวั่นเยาวชนเอาอย่าง



หวั่นเยาวชนเอาอย่าง


        จากปรากฏการณ์ผู้สาวขาเลาะ "ลำไย ไหทองคำ" ทำเอาท่านนายกรัฐมนตรีทนไม่ได้ต้องออกมาติงถึงความเหมาะสมและห่วงเรื่องการเอาอย่างของเยาวชน

        ในสายตาของผู้เขียนนับเป็นเรื่องที่ดีที่ผู้นำกระโดดมาให้ความสำคัญกับเรื่องในระดับชาวบ้าน นอกเหนือการบริหารบ้านเมืองซึ่งเป็นภาระที่หนักอึ้งอยู่แล้ว


        ความจริงหากไปดูในสื่อหลาย ๆ ประเภท เช่น YOUTUBE ยังมีเรื่องที่น่าห่วงหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการแต่งตัวของเยาวชน การใช้คำหยาบคายในครอบครัว หรือแม้กระทั่งการนำเสนอเรื่องเพศในรูปแบบต่าง ๆ หากท่านนายกฯได้เข้าไปดูก็คงจะเห็น


   อย่างไรก็ตามผู้เขียนก็คิดว่ายังมีสิ่งที่น่าเป็นห่วงมากกว่าและคิดว่าเป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วงมากในระดับชาติ ระดับประเทศคือ ห่วงเรื่องเด็กจะเอาอย่างความเจ้าอารมณ์ของผู้นำและที่สำคัญวันข้างหน้าเยาวชนจะเอาอย่างหรือไม่ว่า เมื่อมีการเลือกตั้งแล้ว หากไม่พอใจก็จะพากันหาทางฉีกรัฐธรรมนูญอย่างที่เป็นกันในปัจจุบัน

      ว่าแต่เรื่องนี้ท่านนายกฯ มีความเห็นอย่างไรครับ?






อนาคาริก
06/19/17

Friday, March 24, 2017

หนอนนั้น...สำคัญไฉน



หนอนนั้น...สำคัญไฉน


        คำว่า หนอน มีหลายนัยยะ ที่พวกเรามักจะคุ้นเคยกันก็คือ คำว่า “หนอนหนังสือ” ซึ่งหมายถึง คนที่ชอบอ่านหนังสือเป็นชีวิตจิตใจ


        ส่วนอีกนัยยะหนึ่ง ที่มักจะถูกมองเป็นเชิงลบ คือ “หนอน ในความหมายว่า ผู้เป็นไส้ศึก หรือฝ่ายตรงข้ามที่เข้ามาอยู่ในฝ่ายเรา”

        ที่ปรารภเหตุเรื่องนี้เนื่องจากผู้เขียนมักจะถูกถามเสมอว่า ทราบไหมว่าใครเป็นหนอน?

        บางท่านถึงกับระบุเลยทีเดียวว่า คนนั้นคนนี้เป็นหนอน

        ถามว่า ในทัศนะของผู้เขียนคิดเรื่องนี้อย่างไร?

        ก็ขอตอบตามความสัตย์ว่า ไม่เคยเอาเรื่องนี้มาใส่ใจเลย ถามว่าทำไม ก็ตอบว่า มันไม่มีประโยชน์อะไรเลยที่จะมาคิดเรื่องนี้


        ถามต่อไปอีกว่า หากคิดหรือกังวลกับเรื่องนี้จะเกิดอะไรขึ้น ก็ตอบได้อีกนั่นแหละว่า

        1. เราจะกลายเป็นนักจับผิด เพราะต้องคอยจับจ้องมองว่า คนนั้นเป็นไง คนนี้เป็นไง จะเห็นพฤติกรรมของใคร ๆ ก็น่าสงสัยไปหมด แล้วก็จะส่งผลให้ใจไม่ใส นั่งธรรมะก็ไม่ได้ดี

        2. จะเกิดความระแวงกัน ไม่ไว้ใจกันในหมู่คณะ ซึ่งจะทำให้เข้าทางผู้ไม่ปรารถนาดี

        จะเห็นได้ว่า แค่เหตุผล 2 ข้อนี้ การมองใครเป็นหนอนก็ไม่สนุกแล้ว



        ถามต่อไปว่า แล้วเราควรจะทำอย่างไร ก็ตอบได้ว่า

        1. ให้มั่นใจว่า สิ่งที่หมู่คณะเราทำอยู่ คือ การรักษาพระพุทธศาสนา เรามาร่วมกันสวดมนต์ ปฏิบัติธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกต้อง จึงไม่มีความจำเป็นจะต้องไปกลัวว่าใครจะมาจับผิดเรา

        2. ตั้งใจสร้างความดีของเราให้มากยิ่งขึ้น เพราะความดีเท่านั้นที่จะเป็นสิ่งที่ชนะทุกสิ่งทุกอย่าง

        3. ให้มีจิตเมตตา มองทุกคนที่อยู่รอบตัวเรา รวมทั้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายบ้านเมืองที่มาปฏิบัติหน้าที่ ให้มองเขาเสมือนญาติ ที่มาเยี่ยมเยียนเรา ให้เอาความดีชนะใจเขาให้ได้

        4. ยึดมั่นและหมั่นทบทวนคำสอนของครูบาอาจารย์อย่างสม่ำเสมอ

        หากเราทำได้อย่างนี้ “หนอน” ก็จะกลายเป็นผีเสื้อที่โบยบิน ให้ความสวยงามกับโลกได้ และจะกลายเป็นเพื่อนของเราในที่สุด








อนาคาริก
03/25/17

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ...ปัจจุบันที่ลืมอดีต



      สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ...ปัจจุบันที่ลืมอดีต


        ด้วยความตระหนักว่า พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่คนส่วนใหญ่ให้ความเคารพนับถือ จึงต้องยอมรับความจริงว่า ในอดีตที่คนไทยมีความเป็นปึกแผ่น มีความรัก ความสามัคคีก็เพราะอาศัยหลักธรรมในพระพุทธศาสนาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยว และใช้ในการพัฒนาสังคมประเทศชาติสืบมา

 

        เดิมนั้นการบริหารกิจการพระพุทธศาสนาเป็นเรื่องของคณะสงฆ์ตามพุทธบัญญัติ แต่ต่อมาด้วยเหตุว่า ทางศาสนจักรกับอาณาจักรต้องมีการประสานงานกัน จึงทำให้เกิดพัฒนาการในการที่ต้องทำงานร่วมกัน เพื่อให้เกิดความเรียบร้อยดีงาม


        เดิมนั้นไม่ได้แยกการศึกษาออกจากวัด จึงมีกระทรวงธรรมการ ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนเป็นกระทรวงศึกษาธิการ ค่อย ๆ พัฒนากลายมาเป็นกรมการศาสนา จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2545 จึงแยกการบริหารกรมการศาสนาออกเป็น 2 ส่วน คือ กรมการศาสนา สังกัดกระทรวงวัฒนธรรม และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ขึ้นตรงต่อสำนักนายกรัฐมนตรี



        หน้าที่หลัก ๆ ของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาตินั้น คือ ภารกิจเกี่ยวกับการดำเนินงานสนองงานคณะสงฆ์และรัฐโดยการทำนุบำรุง ส่งเสริมกิจการพระพุทธศาสนา ให้การอุปถัมภ์ คุ้มครองและส่งเสริมพัฒนางานพระพุทธศาสนา ดูแล รักษา จัดการศาสนสมบัติ



        ในอดีตที่ผ่านมาก็ไม่เคยมีเหตุอะไรที่จะเป็นการก้าวล่วงคณะสงฆ์ เนื่องจากผู้นำในสำนักพุทธฯ ล้วนเคยเป็นศิษย์วัดมาก่อน มีความเข้าใจในการทำงานร่วมกับคณะสงฆ์เป็นอย่างดี 

        จนกระทั่ง ณ วันนี้ มีการเปลี่ยนผู้ดูแล ซึ่งมาจากหน่วยงานอื่นที่ไม่ใช่ลูกหม้อของหน่วยงานนี้ จะด้วยเหตุผลใดก็ตาม

        เพียงเริ่มต้นทำงานก็ทำให้เห็นแล้วว่า ขาดความแม่นยำในการใช้กฎหมาย จนต้องไปรับคำแนะนำจากผู้ที่ต้องการให้เกิดความวุ่นวาย ใช้แรงกดดันพระมหาเถระ เพื่อให้บรรลุผลตามที่ตนต้องการ

        ก็คงจะต้องจับตาดูว่าทิศทางในการทำงานจะเป็นอย่างไรต่อไป จากที่ในอดีตคือ "ลูกศิษย์พระ" วันนี้จะกลายเป็น "นายของพระ" ไปแล้วหรืออย่างไร? 

ห้ามกระพริบตานะครับ




อนาคาริก
03/24/17










Thursday, March 23, 2017

ทำไมต้องเป็นกฎ 24



ทำไมต้องเป็นกฎ 24


        ผู้เขียนมีความสงสัยในเบื้องต้นว่า ทำไมผ.อ.สำนักพุทธฯจึงยื่นหนังสือให้มีการแต่งตั้งเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายองค์ใหม่ทั้งที่ปัจจุบันก็มีรักษาการแทนเจ้าอาวาสซึ่งได้รับการแต่งตั้งอย่างถูกต้องตามขั้นตอนตามกฎ 19 ว่าด้วยการแต่งตั้งรักษาการแทนเจ้าอาวาสอยู่แล้ว

        ก็คงต้องมาดูประเด็นแรกกันก่อนว่า สำนักพุทธฯมีอำนาจหน้าที่ในการยื่นหนังสือหรือไม่ ก็ต้องตอบว่า หากดูตามอำนาจหน้าที่แล้ว คงจะอ้างว่าทำได้ดังนี้
ฯลฯ

        (2) รับสนองงาน ประสานงาน และถวายการสนับสนุนกิจการและการบริหารการปกครองคณะสงฆ์
        (3) เสนอแนวทางการกำหนดนโยบายและมาตรการในการคุ้มครองพระพุทธศาสนา

ฯลฯ

        ทั้งนี้โดยหน้าที่ก็เพียงแค่นำเสนอได้ ส่วนจะทำหรือไม่เป็นอำนาจของมหาเถรสมาคมหรือของสงฆ์ที่จะพิจารณา


        ประเด็นที่ 2 ทำไมต้องเสนอใช้ กฎ 24 ซึ่งว่าด้วยเรื่องการแต่งตั้งถอดถอนพระสังฆาธิการ อย่างที่กล่าวไว้เบื้องต้นว่า ในเมื่อมีรักษาการแทนเจ้าอาวาสอยู่แล้วจะเสนอให้แต่งตั้งเจ้าอาวาสขึ้นมาอีกทำไม

        หากพิจารณาตามที่มีคลิปถูกปล่อยออกมาจะเห็นได้ว่า มีข้ออ้างว่า

        1. รักษาการแทนเจ้าอาวาสถูกดำเนินคดีจึงต้องมีการถอดถอน

         ประเด็นนี้ก็คงต้องบอกว่าขณะนี้รักษาการแทนเจ้าอาวาส เป็นเพียงผู้ต้องหา ซึ่งถูกกล่าวหา ยังไม่มีกระบวนการทางศาล และศาลยังไม่ได้พิจารณาว่ามีความผิดแต่อย่างใด หากเพียงแค่การถูกกล่าวหาแล้วจะถือว่าต้องคดี ก็คงจะมีการกลั่นแกล้งกันทั่วบ้านทั่วเมืองแน่(เหมือนกรณีของสมเด็จวัดปากน้ำ)

        2. การให้รักษาการแทนเจ้าอาวาสเป็นพระวัดพระธรรมกายจะทำให้กระบวนการพิจารณาทางสงฆ์ดำเนินต่อไปไม่ได้

        ประเด็นนี้ก็แสดงให้เห็นเจตนาอย่างชัดแจ้งว่า อย่างไรก็ไม่ยอมให้เจ้าอาวาสมาจากพระวัดพระธรรมกายแน่ ก็ต้องถามว่าเจตนาแท้จริงของผ.อ.สำนักพุทธฯ ต้องการอะไรกันแน่

         สิ่งที่น่าแปลกอีกประการคือ ท่านผ.อ.ได้ยืนยันว่า ไม่ได้มีความสัมพันธ์อะไรกับพระพุทธอิสระ แต่ปรากฏว่า เรื่องราวต่าง ๆ ช่างสอดคล้องกับสิ่งที่ปรากฏในคลิปนั้นเหลือเกินแทบจะเรียกได้ว่ากอปปี้ออกมาเลย

        ก็คงต้องรอดูกันต่อไปว่า เหตุการณ์จะเป็นอย่างไร เพราะผู้เขียนก็ไม่กล้าฟันธง เนื่องจากที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นหลักเกณฑ์หรือหลักกฎหมายอะไรก็ล้วนแล้วแต่พ่ายแพ้ต่อหลักกู








อนาคาริก
03/23/17

Wednesday, March 22, 2017

ช้างตายทั้งตัวเอาใบบัวมาปิด



ช้างตายทั้งตัวเอาใบบัวมาปิด


        คนโบราณมักจะมีคำสอนที่คมคาย จนกลายมาเป็นสุภาษิต คำพังเพยหรือบทกลอนสอนใจ ทำให้เกิดความสวยงามหรือความสละสลวยของภาษา

        ยกตัวอย่างเช่น คำว่า ช้างตายทั้งตัวเอาใบบัวมาปิด ถ้านึกเป็นภาพก็ดูเหมือนจะไม่มีความหมายอะไรนัก มันก็ของแน่อยู่แล้ว เพราะช้างตัวโตซะขนาดนั้น จะเอาใบบัวนิดเดียวไปปิดได้อย่างไร


        ในสถานการณ์ปัจจุบันหากใครได้ติดตามเรื่องราวของวัดพระธรรมกาย คงจะเห็นถึงสิ่งที่มีความไม่ชอบมาพากลอยู่

        - ตั้งแต่เริ่มสร้างวัด ก็เริ่มยัดเยียดให้เป็นคอมมิวนิสต์

        - วันร้ายคืนร้ายก็ว่าบิดเบือนคำสอนในพระไตรปิฎก(พอให้ชี้ว่าตรงไหนก็เงียบ)

        - เจ้าอาวาสนั่งรับประเคน ก็หาว่ารับของโจร ฟอกเงิน

ฯลฯ



        สารพัดเรื่องประดังเข้ามาจนนำไปสู่การใช้ ม. 44 ควบคุมพื้นที่ แล้วก็เข้ามาตรวจค้นทุกซอกทุกมุม พอไม่พบผู้กระทำความผิดหรือของผิดกฎหมายตามที่มีในบันทึกการตรวจค้น เรื่องก็น่าจะจบโดยต่างก็แยกย้ายกันไป ยกเลิกการควบคุมพื้นที่


 

        จู่ ๆ ก็เกิดเหตุอัศจรรย์ไปค้นเจออาวุธที่บ้านของใครก็ไม่รู้ แล้วก็หาเหตุโยงเข้าหาวัดว่าเกี่ยวข้องกัน สร้างเรื่องราวว่านั่นคือ อาวุธที่ขนออกจากวัด

        แม่เจ้า ทหารตำรวจล้อมวัดอยู่กว่า 4,000 นาย กล้วยสักหวียังถูกค้นไม่ให้เอาเข้า หากสามารถเอาอาวุธขนาดนั้นออกไปจากวัดได้ นี่เท่ากับผู้สร้างเรื่องดูถูกความสามารถของทหารตำรวจไทยเป็นอย่างมากเลยนะครับ



        เมื่อประมวลเหตุการณ์ต่าง ๆ แล้วสิ่งที่ผุดขึ้นมาให้เห็นมีทั้งในวัด คือ

        1.การไม่ยกเลิก ม.44

        2.การพยายามดำเนินการทางสงฆ์ให้มีการเปลี่ยนเจ้าอาวาสเพื่อจะเข้ามาบริหารจัดการเอง โดยเฉพาะในเรื่องทรัพย์สิน


        และเรื่องที่ผุดภายนอก เช่น การขึ้นภาษีต่าง ๆ ทั้งภาษีที่ดิน ทั้งภาษีสรรพสามิต เป็นต้น

        ทำให้เกิดกระแสแว่ว ๆ ลอยลมมาว่า เอาเข้าจริง ๆ เรื่องทั้งหมดทั้งมวลนี้ แท้จริงแล้ว คือ วิธีการที่ใครบางคนกำลังแก้ปัญหาง่าย ๆ จากการหาเงินไม่เป็น เลยจะหาทางมายึดเงินวัดกระมัง


         เอ ที่เขียนมาทั้งหมดนี่ จะถือเป็นตัวอย่างของคำพังเพยว่า ช้างตายทั้งตัวเอาใบบัวมาปิด ได้ไหมครับ?





อนาคาริก
03/22/17

Tuesday, March 21, 2017

จริงหรือหลอก...บอกกันสักนิด



จริงหรือหลอก...บอกกันสักนิด


        วันนี้มีผู้ส่งคลิปมาให้ผู้เขียนพร้อมกับคำถามว่า เชื่อหรือไม่กับบทสนทนานั้น?

        ก่อนที่จะตอบ ก็ขอให้พวกเราช่วยกันดู ช่วยกันพิจารณาก่อน ตั้งใจฟังกันให้ดีนะ



                                          


        ในทัศนะของผู้เขียน ขอกล่าวในเบื้องต้นว่า

       1.ลักษณะการสนทนา เป็นการรายงานการทำงาน พร้อมกับรับนโยบายไปทำงานต่อ

        2.การอ้างกฎหมายของพระอาจารย์ที่บอกคนในคลิปไปนั้นไม่ถูกต้อง เป็นการอ้างกฎหมายบางส่วน ไม่ได้กล่าวถึงองค์ประกอบทั้งหมด ซึ่งอาจจะทำให้เข้าใจคลาดเคลื่อนได้ เช่น การแต่งตั้งผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสนั้น ก็เป็นไปตามกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 19 (พ.ศ.2536) อย่างถูกต้อง และอย่าลืมว่า เจ้าคณะจังหวัดท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องกฎระเบียบของสงฆ์เป็นอย่างยิ่ง




        คราวนี้มาเข้าประเด็นของคำถามว่า ผู้เขียนเชื่อหรือไม่ว่าเป็นการสนทนาของพระพุทธอิสระกับผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ คือ นายพงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์

        ผู้เขียนขอตอบว่า ไม่ปักใจเชื่อ เหตุผลคือ

        1.ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ไม่ใช่ผู้ใต้บังคับบัญชาของพระพุทธอิสระจึงไม่มีความจำเป็นอย่างใดที่จะต้องรายงานการทำงาน และต้องรับนโยบายจากท่าน

        2.ผู้อำนวยการสำนักพุทธฯ ย้ายมาจากหน่วยงานดีเอสไอ ซึ่งมีสโลแกนว่า เกียรติศักดิ์ เชี่ยวชาญ ซื่อสัตย์ ก็น่าจะเป็นผู้ที่รักเกียรติ รักศักดิ์ศรี ไม่ยอมตกอยู่ภายใต้คำสั่งของผู้ไม่เกี่ยวข้อง

        3.ใครก็ตามที่มาเป็นผู้อำนวยการสำนักพุทธฯจะต้องมีความรู้ ความสามารถเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา กฎหมาย กฎระเบียบของสงฆ์เป็นอย่างดี

        ด้วยเหตุผลดังกล่าวมา ผู้เขียนจึงไม่เชื่อว่านี่เสียงของผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ แต่เพื่อให้สังคมไม่เกิดความคลางแคลงใจ ผู้เขียนใคร่ขอเสนอให้ ท่านผู้อำนวยการสำนักพุทธฯ ได้ออกมาชี้แจงหรือแถลงการณ์อย่างเป็นทางการ พร้อมกับเอาผิดกับบุคคลในคลิปที่ทำให้ท่านเกิดความเสื่อมเสีย เป็นที่ครหาของสังคมต่อไป



         หมายเหตุ ล่าสุดผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้ออกมาให้ข่าวยอมรับตามลิงค์ 

https://www.dailynews.co.th/education/563259

        ทำเอาผู้เขียนมึนตึบเลยครับ ว่าเป็นไปได้ยังไง แล้ววัดพระธรรมกายจะได้รับความเป็นธรรมตามที่ควรจะเป็นหรือไม่?





อนาคาริก

03/21/17